Our News

เปิดตัว นวัตกรรมโดรน เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรุ่นใหม่ ทำสถิติบินนานสูงสุดถึง 15 ชั่วโมง

           ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ทุกๆปีจะมีบทความมาลงใน kns-engineering.com หนึ่งบทความในช่วงเดือนของการก่อตั้งของบริษัทและปีนี้เข้าปีที่5 กับการสร้างผลงานแห่งคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ด้วยประสบการณ์ของบุคลากรและเครื่องมือที่ทันสมัย ตลอดจนผลงานที่เราดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอเพื่อส่งต่อให้ลูกค้าได้ประทับใจ เราจึงมีการพัฒนาในด้านการทำงานและด้านเทคโนโลยีอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้เราเป็นผู้นำในการให้บริการด้านงานสำรวจทุกรูปแบบ เพราะผลงานที่มีคุณภาพคือหัวใจหลักในการให้บริการของเรา  ทั้งนี้ก็ขอแสดงความยินดีกับผู้ร่วมก่อตั้งด้วยล้วนเป็นบุคลากรที่มีทักษะและวิสัยทัศน์ที่ดีเยี่ยม

          ทุกวันนี้ ไม่มีใครไม่รู้จักนวัตกรรมสุดเจ๋งที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “โดรน” หรือในชื่อไทย นิยามเจ้าสิ่งนี้ว่า “อากาศยานไร้คนขับ” ซึ่งก็ใช้อธิบายโดรน ได้เห็นภาพดี โดยที่ผ่านมา นวัตกรรมโดรน มีการนำไปใช้ในหลายวัตถุประสงค์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาพมุมสูง การใช้ประโยชน์เฉพาะทางในแง่ของงานวิจัย อย่างการสร้างแบบจำลอง 3 มิติจากภาพถ่ายทางอากาศด้วยโดรน และนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ ปฏิสังขรณ์โบราณสถานของไทย

drone-shell-farm_management-eec-0-new.jpg (296 KB)

หรือการใช้โดรนในงานสำรวจ โดยผสานเข้ากับวิทยาการด้านภูมิสารสนเทศ จากโครงการที่คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพิชิตภารกิจจัดทำแผนที่กำหนดขอบเขตปัจจุบันของ ‘พื้นที่ฟาร์มหอย’ เพื่อกำหนดเขตศักยภาพพื้นที่เลี้ยงหอย และนำไปสู่การจัดทำระบบบริหารจัดการพื้นที่ฟาร์มหอยอย่างมีประสิทธิภาพ

มาถึงวันนี้ โดรนก็ยังเป็นนวัตกรรมแห่งยุคที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยจุดประสงค์หลัก คือ การเพิ่มขีดความสามารถให้นำโดรนไปใช้ทั้งในรูปแบบของนวัตกรรมประหยัดพลังงาน และลดข้อจำกัดเพื่อนำโดรนไปใช้ในทุกสภาพแวดล้อมได้มากขึ้น

MMC-Griflion-H_15-hour-Flight-Time-2.jpg (254 KB)

เปิดตัว นวัตกรรมโดรน เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรุ่นใหม่ ทำสถิติบินนานสูงสุดถึง 15 ชั่วโมง

จากประสบการณ์การลงพื้นที่ไปกับทีมนักวิจัยของคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในการสำรวจพื้นที่ฟาร์มหอยในเขตอำเภอศรีราชาและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อกำหนดขอบเขตนั้น ทำให้ได้ทราบว่า แบตเตอรี่ของโดรนที่ใช้ในงานบินสำรวจทั่วไปอย่าง Aerial Drone จะใช้ได้ประมาณ 15-25 นาที เท่านั้น ซึ่งนี่นับเป็นข้อจำกัดสำคัญของการบินโดรน เพราะทีมงานต้องคอยมอนิเตอร์ว่า ถึงเวลาเปลี่ยนแบตเตอรี่ของโดรนแล้วหรือยัง

แต่ด้วยนวัตกรรมโดรนที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งเปิดตัวออกมาแล้วนี้จะช่วยลบข้อจำกัดเรื่องแบตเตอรี่หมดเร็วอย่างได้ผล

ในงาน InterGEO 2019 ซึ่งเป็นงานด้านภูมิศาสตร์สารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จัดขึ้น ณ ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา MMC UAV ได้เปิดตัวโดรนเชื้อเพลิงไฮโดรเจนรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง Griflion H ที่สร้างสถิติใหม่ สามารถบินได้นานถึง 15 ชั่วโมง ทั้งนี้ Griflion H เป็นโดรนที่บินขึ้นและลงในแนวดิ่งโดยใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมาพร้อมดีไซน์แบบครบวงจร และขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่พลังไฮโดรเจนเสถียรภาพสูงที่มาจากผลงานการพัฒนาของ MMC

https://youtu.be/N98IlOKRJVU

  • บินได้นาน 15 ชั่วโมง เพื่อประสิทธิภาพการปฏิบัติภารกิจที่ดีขึ้นกว่าเดิม

จุดเด่นของ Griflion H คือความสามารถในการบินที่ยาวนานมากขึ้นกว่าเดิม ที่เป็นผลมาจากการติดตั้งแผ่นเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนแบบ 2 ขั้วที่ทำจากโลหะประสิทธิภาพสูง ทำให้สามารถกักเก็บไฮโดรเจนได้สูงถึง 27 ลิตร จึงทำให้โดรนรุ่นนี้สามารถขึ้นบินโดยไม่มีการบรรทุกของได้นานถึง 15 ชั่วโมง และสามารถบินได้ 10 ชั่วโมง หากมีการบรรทุกหนักประมาณ 3 กิโลกรัม

ขณะที่โดรนส่วนใหญ่ในตลาดตอนนี้สามารถขึ้นบินได้นานสุดแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะการจัดทำแผนที่ เพราะการบินขึ้นและลงหลายครั้งในหลายๆ จุดมักทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลงตามไปด้วย

ดังนั้น ความสามารถด้านการบินได้ในระยะเวลาที่นานขึ้นของ Griflion H จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ภารกิจลุล่วงลงได้ด้วยประสิทธิภาพที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ Griflion H ยังมาพร้อมคุณสมบัติด้านอื่น อาทิ ความสะดวกในการปฏิบัติการ, ความปลอดภัยในระดับสูง, การครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง, ไม่มีการปล่อยมลพิษ, มีเสียงรบกวนเพียงน้อยนิด ดังนั้น เมื่อผนวกรวมเข้ากับอัตราการบรรทุกที่แตกต่างกันแล้ว โดรนรุ่นนี้จัดว่าเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีสำหรับการปฏิบัติภารกิจ ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจและการทำแผนที่, ความมั่นคงและความปลอดภัย หรือแม้แต่การสำรวจชายแดน และการสำรวจผืนป่าในพื้นที่ต่างๆ แน่นอน

MMC-UAV-2.jpg (158 KB)

MMC-UAV-1.jpg (101 KB)

  • ผลิตภัณฑ์ที่ดีไซน์แบบครบวงจร เพื่องานระบบเชิงอุตสาหกรรม

ในฐานะ MMC UAV เป็นหนึ่งในบริษัทเพียงไม่กี่เแห่งที่มีความสามารถในการผนวกรวมห่วงโซ่อุตสาหกรรม ตลอดจนทำการวิจัยและพัฒนาได้อย่างอิสระ MMC UAV จึงได้พัฒนาระบบพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นของตนเองขึ้นมา ได้แก่ แบตเตอรี่ไฮโดรเจน, ถังเก็บไฮโดรเจน, วาล์วลดแรงดัน, คอมเพรสเซอร์ไฮโดรเจน และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยไฮโดรเจน ซึ่งตอบโจทย์งานระบบเชิงอุตสาหกรรมได้ครบวงจร

ที่ผ่านมา MMC UAV เปิดตัว HyDrone 1800 โดรนประเภทมัลติโรเตอร์ที่ใช้ไฮโดรเจนในการขับเคลื่อนตัวแรกของโลกออกมาเมื่อปี 2559 โดยทำสถิติการบินไว้ที่ 273 นาที ขณะที่ Griflion H ซึ่งเป็นรุ่นที่ผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพต่างๆ โดยรวมมาแล้ว และมีระบบเก็บเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่มีเสถียรภาพ สามารถทำลายสถิติดังกล่าวที่บริษัทเคยทำไว้ได้สำเร็จ อีกทั้งยังมาพร้อมดีไซน์แบบครบวงจรที่ช่วยให้การเชื่อมโยงระหว่างการบินโดรน, เซลล์เชื้อเพลิง และการบรรทุกมีความสอดคล้องกันมากขึ้นด้วย

Saildrone-ok.jpg (242 KB)

ทำความรู้จัก โดรนเรือใบ “Saildrone” ที่เดินทางรอบแอนตาร์กติกาได้สำเร็จ

ยอมรับว่า เมื่อได้รู้ว่าตอนนี้มี โดรนเรือใบ ก็ทำให้แปลกใจมากทีเดียว เพราะที่ผ่านมา เราได้รู้ว่ามีโดรน Drone ROV (Remotely Operation Vehicle) หรือโดรนใต้น้ำ ที่ใช้เก็บข้อมูลเพื่อให้ได้มุมมองใต้น้ำ มาในวันนี้มีการคิดค้นโดรนเรือใบ หรือ “Saildrone” ได้สำเร็จแล้ว

โดย Saildrone หรือ โดรนเรือใบ เป็นยานผิวน้ำไร้คนขับความยาว 7 เมตร (23 ฟุต) ขับเคลื่อนด้วยพลังงานลม ซึ่งในตอนนี้ได้กลายเป็นอากาศยานไร้คนขับลำแรกที่สามารถเดินทางรอบทวีปแอนตาร์กติกาสำเร็จ โดยยานชื่อ SD 1020 ติดตั้งชุดเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลในน่านน้ำที่ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับมหาสมุทรและสภาพภูมิอากาศ

https://youtu.be/ugDnC0iidL4

ภารกิจเก็บข้อมูลเชิงลึกนี้มีระยะเวลา 196 วัน เริ่มต้นจากท่าเรือเซาต์พอร์ตในเมืองบลัฟ ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2562 ก่อนจะเดินทางกลับสู่ท่าเรือเดิมในวันที่ 3 สิงหาคม 2562 หลังล่องเรือเป็นระยะทางกว่า 22,000 กิโลเมตร (13,670 ไมล์) รอบแอนตาร์กติกา

ในระหว่างทำภารกิจ ยานผิวน้ำไร้คนขับ หรือโดรนเรือใบนี้ สามารถต้านทานอุณหภูมิเยือกแข็ง คลื่นสูง 15 เมตร (50 ฟุต) กระแสลมแรง 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง (80 ไมล์/ชั่วโมง) และการปะทะกับภูเขาน้ำแข็งขนาดยักษ์ 

ดังนั้น โดรนเรือใบ จึงเป็นนวัตกรรมโดรนที่มาช่วยในงานสำรวจมหาสมุทรแอนตาร์กติก ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมความร้อนและคาร์บอนบนโลกของเรา แต่ที่ผ่านมา ด้วยน่านน้ำดังกล่าวอยู่ห่างไกลมากและไม่เหมาะสำหรับอยู่อาศัย แม้แต่เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ยังพยายามหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณดังกล่าวในช่วงฤดูหนาว พื้นที่นี้จึงแทบไม่มีการเก็บตัวอย่างเพื่อวิจัย หลายคำถามทางวิทยาศาสตร์จึงยังไม่มีคำตอบ

Saildrone-ok-2.jpg (246 KB)

อย่างไรก็ตาม ทีมนักสำรวจกล่าวถึงเจ้า Saildrone นี้ ว่ามีความคล่องแคล่วและทนทาน ไม่เพียงต้านทานฤดูหนาวอันโหดร้ายได้เท่านั้น แต่ยังสามารถส่งข้อมูลสำคัญใหม่ๆ จากน่านน้ำที่ไม่เคยมีการเก็บตัวอย่างมาก่อนด้วย

เพราะในการทำภารกิจนี้ Saildrone มีหน้าที่บรรทุกอุปกรณ์ที่พัฒนาโดยองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) เพื่อวัดการถ่ายเทคาร์บอน (carbon flux) โดยสามารถเก็บหลักฐานที่บ่งชี้ว่า มหาสมุทรแอนตาร์กติกปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่อาจมีความหมายอย่างมากต่อแบบจำลองสภาพภูมิอากาศของโลก

ริชาร์ด เจนกินส์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Saildrone กล่าวว่า

“สภาพอากาศที่เลวร้ายช่วงฤดูหนาวในมหาสมุทรแอนตาร์กติกเป็นปราการด่านสุดท้ายของ Saildrone การเดินทางรอบแอนตาร์กติกได้สำเร็จเป็นเครื่องยืนยันว่า ไม่มีมหาสมุทรส่วนใดในโลกที่เราไม่สามารถสำรวจได้ เราจำเป็นต้องยกระดับความเข้าใจในมหาสมุทร เนื่องจากมหาสมุทรเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่มีอิทธิพลต่อสภาพภูมิอากาศ และต่ออนาคตของเรา”


ที่มา :

PREVIOUS PAGE